[close]
choosewithcareclub.com
go to facebook YouTube
HOME ABOUT US HEALTH CARE SHARE YOUR STORY NEWS CONTACT

ไอนานเกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุมาจากหลายโรค

ไอนานเกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุมาจากหลายโรค
ไอนานเกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุมาจากหลายโรค


          สาเหตุที่พบบ่อยของอาการไอนานเกิน 2 สัปดาห์ ได้แก่ หลอดลมอักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน และผลข้างเคียงจากยาลดความดันกลุ่มต้านเอช ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีสุขภาพโดยทั่วไปดี กินได้ น้ำหนักไม่ลด และไม่มีอาการหอบเหนื่อย


          สาเหตุของอาการไอนานเกิน 2 สัปดาห์

          1. วัณโรคปอด

          มักพบในคนวัยกลางคนขึ้นไป หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ (เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นเอดส์ เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ขาดอาหาร พิษสุราเรื้อรัง ผู้ติดยาเสพติด คนชรา ผู้ที่ตรากตรำงานหนัก เป็นต้น) หรือผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอดเป็นระยะยาวนาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง (อาจไอมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้) ร่วมกับไข้เรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นแรมเดือน และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย บางรายอาจไอออกเป็นเลือดสด เจ็บหน้าอกหรือหอบเหนื่อย

          2. มะเร็งปอด

          มักพบในคนวัยกลางคนขึ้นไป ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง (อาจไอมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้) อาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน แต่บางรายอาจไม่มีประวัติสูบบุหรี่ก็ได้

          3. ถุงลมปอดโป่งพอง

          มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปและมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลาออกแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ

          4. หืด

          พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก มักมีอาการไอร่วมกับหายใจหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงดังวี้ด เมื่อสัมผัสถูกสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้น เช่น ไรฝุ่นบ้าน (พบตามที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นที่ทำด้วยนุ่นหรือเป็นขน ๆ) เชื้อรา (พบสปอร์ตามความเย็น (เช่น อากาศเย็น แอร์เย็น) การออกกำลังกาย

          สำหรับสาเหตุข้อ 1 - 4 ดังกล่าว หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

          ส่วนสาเหตุข้อ 5 - 8 ต่อไปนี้ ผู้ป่วยมักมีสุขภาพโดยทั่วไปดี กินได้ น้ำหนักไม่ลด ไม่หอบเหนื่อย

          5. หลอดลมอักเสบ

          มักพบหลังเป็นไข้หวัด ช่วงแรกมักไอมีเสมหะ (อาจเป็นสีขาว สีเขียวหรือสีเหลือง) บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย เมื่ออาการไข้ทุเลาและเสมหะลดน้อยลงและเปลี่ยนเป็นสีขาว (ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมาแล้ว) ผู้ป่วยจะมีอาการไอแบบระคายคอ อาจมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาวหรือใส ๆ หรืออาจไอแบบไม่มีเสมหะ มักจะไอมากเวลาถูกสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่นละออง ลมที่พัดใส่ อากาศเย็น เป็นต้น อาการจะค่อย ๆ ทุเลา กว่าจะหายขาด อาจใช้เวลา 1 - 3 เดือน

          6. โรคภูมิแพ้

          มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใส ๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่นละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น อาการจะทุเลาเมื่อกินยาแก้แพ้ และกำเริบอีกเมื่อหยุดยา

          7. โรคกรดไหลย้อน

          มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (แต่ก็อาจพบในวัยหนุ่มสาวได้) มักมีอาการไอแห้ง ๆ หลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังกินอาหารเกือบทุกมื้อ ไอเรื้อรังทุกวันนานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือแรมเดือน โดยที่สุขภาพแข็งแรงดี บางรายอาจมีอาการแสบคอ หรือเสียงแหบช่วงหลังตื่นนอน พอสาย ๆ ทุเลาไปเอง บางรายอาจมีอาการแสบอก จุกอก หรือแสบจุกคอ

          8. ผลข้างเคียงจากยาลดความดันกลุ่มต้านเอช (ACE inhibitors) เช่น อีนาลาพริล (enalapril)

          มักมีอาการไอแห้ง ๆ บ่อย ๆ ทุกวันเรื้อรังเป็นสัปดาห์ ๆ หรือแรมเดือน โรคที่สุขภาพแข็งแรงดี บางรายอาจไอจนปัสสาวะเล็ด ภาวะนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยหญิง แทบทุกคนเคยพบว่าหลังจากเป็นไข้หวัด ในบางครั้งจะมีอาการไอโครก ๆ นานเป็นแรมเดือน น่ารำคาญ ทำอย่างไรก็ไม่ยอมหายดังใจอยาก ในที่สุดก็ค่อย ๆ ทุเลาไปเอง บางครั้งอาจไอนานถึง 3 เดือน (จนมีการเรียกขานว่า "ไอ 3 เดือน")

          บางคนกังวลใจ ขอให้หมอตรวจนั่นตรวจนี่มากมาย กรณีนี้เกิดจากมีหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน ทำให้เยื่อบุหลอดลม อ่อนแอลงและระคายเคืองง่ายเมื่อสัมผัสสิ่งระคายเคือง (เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่นละออง ลมที่พัดใส่ อากาศเย็น เป็นต้น) เยื่อบุหลอดลมกว่าจะฟื้นตัวแข็งแรงได้สนิทใช้เวลาประมาณ 1 - 3 เดือน ขึ้นกับสุขภาพของแต่ละคน ระหว่างที่ยังไม่พื้นหายดี ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง และถ้าไอมาก หมอก็จะให้กินยาแก้ไอบรรเทาจนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวดี

          อาการดังกล่าวแตกต่างจากโรคภูมิแพ้ โดยที่โรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการกำเริบนาน ๆ สักครั้ง ซึ่งมักจะมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน และจะไอแบบระคายคอ ไม่มีอาการจาม คันคอ คันจมูก ส่วนโรคภูมิแพ้จะมีอาการกำเริบอยู่เรื่อย ๆ เวลาสัมผัสถูกสารก่อภูมิแพ้ หรือเป็นตรงฤดูกาล (เช่น หน้าหนาว หน้าเกี่ยวข้าว) ทุกปี มักมีอาการจาม คันคอ คันจมูกมีน้ำมูกใส ๆ ไหลร่วมด้วย และมักทุเลาเมื่อกินยาแก้แพ้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีอาการห่างหายไปได้เมื่อสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

          ส่วนผู้ที่ไม่มีลักษณะอาการดังกล่าวข้างต้น หากไอมากตอนหลังตื่นนอน หรือหลังกินอาหารแทบทุกมื้อทุกวันติดต่อกันเป็นแรมเดือน โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี อาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดตรงปลายหลอดอากรหย่อนสมรรถภาพ ไม่สามารถอุดกั้นน้ำย่อย (มีฤทธิ์เป็นกรด) ในกระเพาะอาหารได้ จึงปล่อยให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารและทางเดินหายใจส่วนต้น กระตุ้นให้เกิดอาการต่าง ๆ รวมทั้งอาการไอเรื้อรัง

          หากสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จริงและได้รับการรักษาด้วยยาลดการสร้างกรด อาการไอก็จะดีขึ้น

          ในวัยกลางคนและวัยสูงอายุที่เป็นโรคความดันเลือดสูง หากได้รับยาลดความดันกลุ่มต้านเอช (เช่น อีนาลาพริล) ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ประหลาดกว่ายากลุ่มอื่น คือ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังทุกวัน นานเป็นแรมเดือนพบได้ประมาณร้อยละ 25 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีเพศ บางรายหมอไม่ได้บอกเตือนล่วงหน้า ผู้ป่วยและญาติก็ไม่ได้เอะใจว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้ เห็นไอผิดปกติ กลัวว่าจะเป็นโรคปอด จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ทราบประวัติการรักษาของผู้ป่วย และหมอก็ไม่ได้สอบถามการใช้ยาชนิดนี้ หมอจึงตรวจนั่นตรวจนี่มากมายเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติคลายกังวลสิ้นเปลืองเงินไปหลายสตางค์ ในที่สุดก็พบว่าเกิดจากยานี้

          ดังนั้น ผู้ป่วยวัยกลางคนหรือสูงอายุที่เป็นโรคความดันเลือดสูง หากจู่ ๆ มีอาการไอเรื้อรัง อย่าลืมคิดถึงสาเหตุข้อนี้ และควรกลับไปปรึกษาแพทย์คนเติมที่ให้การรักษาอยู่ก่อน อย่าเปลี่ยนแพทย์ให้เกิดความยุ่งยาก เมื่อแพทย์พบว่าเกิดจากสาเหตุนี้จริง ก็จะได้ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม


ครอบครัวโรคปอด

          ชายหนุ่มวัย 30 ปีเศษ มีอาชีพขับรถให้นายจ้างวันหนึ่งมาปรึกษาหมอด้วยอาการไข้ ไอมีเสมหะเหลืองมา 4 วัน หมอวินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลันก็ให้ยาแก้ไข้ และยาปฏิชีวนะ - อะม็อกซีซิลลินไปกินนัดมาติดตามผลอีก 3 วัน อาการไข้ไม่ลด กลับไอมากขึ้นและเริ่มมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด

          คราวนี้หมอไม่นิ่งนอนใจ เพราะคิดว่าอาจเป็นอะไรที่มากไปกว่าหลอดลมอักเสบแน่ ๆ และก็คิดว่าอาจเป็นโรคปอดก็ได้ จึงส่งไปตรวจเอกซเรย์ปอดและตรวจเสมหะก็พบว่าเป็นโรคปอดจริง ๆ จึงได้ให้ยารักษาวัณโรค 3 - 4 ชนิดตามสูตรมาตรฐาน ประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมาโรคก็ทุเลา ได้ให้ยาจนครบ 6 เดือน

          คนไข้เช่าห้องแคบ ๆ ไม่มีหน้าต่าง อยู่กับภรรยากับลูกชายอายุ 3 ขวบ แนะนำให้พาทั้ง 4 คนไปตรวจที่โรงพยาบาล หมอพบว่า ลูกชายมีความเสี่ยงสูง จึงให้ยาลูกชายกินป้องกันอยู่นานเป็นปี ซึ่งก็เป็นปกติดีมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ส่วนภรรยา หมอเอกซเรย์ปอดแล้วไม่พบรอยโรค จึงไม่ได้ให้การรักษาใด ๆ

          หลังจากนั้น 2 ปี ภรรยามีอาการไข้ และไอมีเสมหะแบบเดียวกับคนไข้ ให้ยาปฏิชีวนะกินอยู่ 1 สัปดาห์ไม่ได้ผล เมื่อส่งเอกซเรย์ปอดและตรวจเสมหะ ก็พบว่าเป็นโรคปอดตามรอยสามี ได้ให้ยารักษาสูตรเดียวกันจนหายดี

          ไอเรื้อรังอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดา

          แม้ว่าผู้ที่มีอาการไอนานเกิน 2 สัปดาห์ส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง แต่บางรายก็อาจเกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น วัณโรคปอด มะเร็งปอดถุงลมปอดโป่งพอง โรคหืด เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก เป็นต้น

          และแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติดังกล่าว แต่ให้การดูแลรักษาขั้นแรกมา 1 - 2 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา ก็อาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่ธรรมดา (เช่น วัณโรคปอด มะเร็งปอดระยะแรก) ก็ได้ (ดูกรณีตัวอย่าง "ครอบครัวโรคปอด")


บทสรุป

          ผู้ที่มีอาการไอนานเกิน 2 สัปดาห์ควรรีบปรึกษาแพทย์ ถ้าพบอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

          1. มีไข้เกิน 7 วัน

          2. น้ำหนักลด

          3. ไอเป็นเลือด

          4. หอบเหนื่อย

          5. อ่อนเพลีย

          6. เบื่ออาหาร

          7. เจ็บหน้าอก

          8. มีความวิตกกังวล

          9. ให้การดูแลเบื้องต้นแล้วไม่ทุเลา


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์


Home >>

Flemex-AC OD

Recent Post
รวมวิธีรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

รู้จัก 5 รูปแบบการไอ เพื่อบรรเทาอาการอย่างถูกจุด

“สารสกัดจากดอกคาโมมายล์” หนึ่งในส่วนผสมที่ควรมองหาใน เม้าท์ สเปรย์

ไม่ใช่แค่ละลายเสมหะ..NAC กับการใช้รักษาอาการหรือโรคอื่น

เจาะลึกถึงสาเหตุที่นำไปสู่อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

3 ยาที่ต้องมีติดบ้านเพื่อรับมือ “ไข้หวัดแดด”

“เฟลมโมมายล์ เม้าท์ สเปรย์” (Flemomile Mouth Spray) สเปรย์สำหรับช่องปาก สูตรปราศจากน้ำตาลและแอลกอฮอล์

"กาวชันผึ้ง" (Propolis) สารมหัศจรรย์จากธรรมชาติช่วยแอนตี้ไวรัส

สุขใจปีใหม่ ดูแลกันให้นาน ๆ

9 วิธีปรับปรุงชีวิตคู่ให้ดีขึ้น

คาโมมายล์ สมุนไพรที่ช่วยให้ผ่อนคลายและบำรุงสุขภาพ

สุขภาพดี ท้าหนาว

RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต

เฟลมโมมายล์ เม้าท์ สเปรย์ เอาใจคนรุ่นใหม่ ใส่ใจสุขภาพ

คัดจมูกอย่าปล่อยไว้นาน

ชิว ๆ เตรียมตัวรับความหนาวที่มาพร้อมกับความสุขใจ

ภูมิแพ้… ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

Review: FLEMOMILE เม้าท์ สเปรย์ ตัวช่วยในวันที่เจ็บคอ (ไม่พูดเยอะ)

หนาวแล้ว ปลายฝน รับต้นหนาว

สุขใจ อิ่มบุญ ในช่วงกินเจ

ชีวิตคิดบวก สู้โควิด

เที่ยวแบบ New Normal เทรนด์ใหม่ยุคโควิด-19

ไอจนเจ็บหน้าอก

“สุขดี” ที่ใจและกาย

ปรับไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่ รับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19

New normal ในโลกหลัง COVID-19 ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

อันตรายจาก “ความชื้น”


ประโยชน์ของสารสกัดจากดอกคาโมมายล์และโพรพอลิส


เทรนด์ธุรกิจแบบ Health Focus ที่มาแรงในวันนี้



« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
Neurotex

Aquamaris




เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอคอนเทนต์และโฆษณาที่ท่านอาจสนใจเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเรา
หากท่านใช้บริการเว็บไซต์ของเราต่อไปโดยไม่ได้ปรับการตั้งค่าใดๆ เราเข้าใจว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ของเรา
HOMEABOUT USSHARE YOUR STORYNEWSCONTACT
 
  
view